Infinity design for Green – Ep.15: อุทยานธรรมชาติวิทยา
กลับมาพบกับกิจกรรม Infinity design for Green EP.15 กับการรักษาธรรมชาติ โดยในครั้งนี้พวกเราตัดสินใจเดินทางมาทำกิจกรรมกันที่ อุทยานธรรมชาติวิทยา อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ตามรอยพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
Activities for GREEN
สำหรับกิจกรรม Infinity design for Green – Ep.15 นี้ พวกเรากลุ่มมดตัวน้อยตั้งใจจะกลับไปปลูกป่า แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ ไม่ค่อยเหมาะสมกับการปลูกป่านัก เนื่องจากการดูแลรักษาที่ต้องทำอย่างใกล้ชิด ซึ่งการปลูกป่าในบริเวณนั้น สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กันคือ การดูแลรักษาให้เติบใหญ่ ไม่ตายไปเสียก่อน เราจึงตัดสินใจมาทำฝายชะลอน้ำแทน ซึ่งพวกเราก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะได้ยินกันมาหลายครั้งแล้วกับ “ฝายชะลอน้ำ”
เริ่มต้นทริปครั้งนี้ด้วยการออกเดินทางแต่เช้ามืด เนื่องจากกิจกรรมที่การทำฝายที่ต้องใช้เวลาพอสมควร รวมถึงระยะทางที่ต้องเดินทาง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา และไม่นาน พวกเราก็เดินทางมาถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติวิทยา หลังจากมาถึงแล้ว พวกเราตัดสินใจที่จะแวะเข้าชม ธารน้ำร้อนบ่อคลึง ซึ่งอยู่ห่างจากอุทยานไม่ถึง 1 กิโลเมตร โดยที่นี่ถือเป็นแช่น้ำแร่ ที่มีต้นกำเนิดจากสายน้ำไหลผ่านกรวดหินดินทรายใต้พื้นผิวโลกที่ร้อนจัด แล้วไหลเป็นธารน้ำร้อนขนาดเล็กออกมาจากซอกหินเชิงเขาตะนาวศรี
บ่อคลึง เป็นลำธารน้ำร้อนเล็กๆ มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี และไม่มีแร่ธาตุที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ตัวน้ำไหลซึมออกมาจากตาน้ำใต้ดินไม่ขาดสาย แม้ในฤดูแล้งปริมาณน้ำจะไหลน้อยแต่ก็ไม่ถึงกับแห้ง มีก้อนหินใหญ่เล็กเรียงรายตามร่องน้ำตลอดทางประมาณ 300 เมตร เป็นน้ำร้อนบริสุทธิ์ ความร้อน เฉลี่ยประมาณ 50-57 องศาเซลเซียส ค้นพบโดย นายประยูร โมนยะกุล
หลังจากแวะชมธารน้ำร้อนเสร็จ ก็ถึงเวลานัด (10.00 น.) พวกเราก็ได้เดินทางไปพบกับ คุณสุเทพ ไกรเทพ หัวหน้าสำนักงานอุทยานฯ วิทยากรที่จะมาให้ความรู้แก่พวกเราในวันนี้ ณ ด้านหน้าของศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา
“อุทยานธรรมชาติวิทยา สวนผึ้ง ราชบุรี” มีที่มาจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยในการศึกษาธรรมชาติ ทั้งยังเล็งเห็นว่าควรที่จะมีการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติไว้ให้เยาวชน และราษฎรในท้องถิ่น ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ โดยเริ่มจากกิจกรรมปลูกป่าชุมชน ในตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ต่อมาคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้คัดเลือกพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทางกายภาพ และชีวภาพ ให้เป็นสถานที่เรียนรู้ในลักษณะ “โรงมหรสพทางธรรมชาติ” และมีการเปิดป้ายอุทยานธรรมชาติวิทยาใรวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547
หลังจากฟังบรรยายเสร็จพวกเราก็ได้เข้าชมด้านใน ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลทางสังคมศาสตร์ ข้อมูลทางกายภาพ และข้อมูลทางชีวภาพ จัดทำเป็นนิทรรศการ เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
หลังจากนั้น พวกเราก็เดินทางเยี่ยมชมรอบๆ อุทยาน จนมาถึงบริเวณริมแม่น้ำ เพื่อทำฝายชะลอน้ำ
มารู้จักกับฝายชะลอน้ำกันก่อน
ฝาย คือ สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากน้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนเอาไว้ไม่ให้ไปทับถมลำน้ำตอนล่าง เป็นเป็นวิธีการอนุรักษ์ดิน และน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
สำหรับการทำฝายในวันนี้นั้น จะต้องใช้อุปกรณ์อย่าง กล่องเกเบี้ยน (Gabions) ที่มีความทนทาน และยืดหยุ่นสูง ตัวโครงสร้าง และลักษณะของกล่องเกเบี้ยน สามารถกลมกลืนไปกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และง่ายต่อการติดตั้ง แค่ปรับพื้นก็สามารถวางได้เลย
นอกจากกล่องเกเบี้ยน แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ หิน ซึ่งหาได้ตามริมแม่น้ำ ด้วยแชลง จอบ และบุ๋งกี๋ และเมื่ออุปกรณ์ครบแล้ว ก็ได้เวลาลงมือ
เริ่มต้นจากขุดหิน เก็บลงบุ๋งกี๋ ขนไปวางในกล่องเกเบี้ยน เริ่มต้นจากหินก้อนใหญ่ ตามด้วยหินก้อนเล็กๆ จนเต็ม โดยฝายจะตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ เพื่อกันไม่ให้น้ำที่ไหลมาไปเซาะดินรอบๆ ซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควรเลยทีเดียว
หลังจากเสร็จจากการทำฝายแล้ว พวกเราก็เดินทางกลับมายังบริเวณด้านหน้าเพื่อเดินทางกลับ ซึ่งคุณสุเทพ ก็มีเซอร์ไพส์มอบ หนังสือสืบสานพระราชปณิธาน สามทศวรรษจรัสหล้า การพัฒนาเด็ก และเยาวชนในถื่นทุรกันดาร ให้กับพวกเรา ซึ่งการทำกิจกรรมในครั้งนี้พวกเรารู้สึกสนุก และประทับใจมาก เนื่องจากได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคุณสุเทพ และทางทีมงาน
เสร็จจากภารกิจ พวกเราก็พักรับประทานอาหาร และเดินทางต่อมายัง น้ำตกเก้าชั้น หรือน้ำตกเก้าโจน น้ำตกจากหน้าผาสูงกลางหุบเขาในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เท่านั้น เป็นน้ำตกขนาดกลาง แบ่งเป็น 9 ชั้น มีน้ำตลอดปี หินบริเวณน้ำตกเป็นหินแกรนิต บางชั้นของน้ำตกจะพบลานหินขนาดใหญ่ ก้อนหินแกรนิตวางตัวสวยงามแปลกตา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
หลังจากเที่ยวพักผ่อนแวะชมธรรมชาติกันเรียบร้อย พวกเราก็ถือโอกาสแวะหาซื้อของฝาก กันที่ บ้านหอมเทียน อีกหนึ่งสถานที่เที่ยวที่มีชื่อเสียงยอดฮิต ยุคบุกเบิกใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 กับผลงานสร้างสรรค์ศิลปะเทียนกลิ่นหอมในรูปแบบต่างๆ สีสันแปลกตา และจุดวางเรียงรายตามที่ต่างๆ ภายในบ้านหอมเทียนตกแต่งด้วยของเก่าสะสมหายาก ภาชนะสังกะสี ตะเกียงโบราณ ของเล่นเก่า ฯลฯ
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับ กิจกรรม Infinity design for Green ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากกลุ่มมดตัวน้อย ที่ได้มีโอกาสมาช่วยกันรักษาพื้นที่สีเขียวกับที่อุทยานธรรมชาติวิทยา อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
ติดตามกิจกรรมการเที่ยวสนุก อย่างมีคุณค่า “เพื่อบ้านหลังใหญ่” ในแต่ละเดือน ของพวกเรา… เจ้ามดตัวเล็ก (แต่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเรา) กับ กิจกรรม Infinity Design for Green หรือดูรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งหมดของพวกเราได้ที่ www.infinitydesign.in.th/ForGreen
[highlight_2]เพราะพวกเราเชื่อว่า.. จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติ[/highlight_2]
บ้านจะสวยได้อย่างไร … ?
ถ้าบ้านหลังใหญ่ยังถูกทำลาย
Infinity design for GREEN